Pharmacy & wellness

ห่วงใยวัยรุ่นดื่ม “น้ำท่อม” มากเกินไป ระวังเป็นพิษกับสมอง ตับ และไต

พี่แกงห่วงน้อง “น้ำท่อม” ปลอดภัยจริงหรือ?

ค่ำคืนนึงผมได้เดินสำรวจในซอยกลางเมืองมหานครของภาคอีสาน ก้าวข้ามถนนก็จะเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่สองสถาบัน ในซอยนี้มีความคึกคัก ประหนึ่งย่านรัชดา สีลม หรือข้าวสาร ที่นี่เป็นย่านหอพักนักศึกษา มีร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ผับ บาร์ และร้านน้ำท่อม (กระท่อม)

ในแต่ละเดือนเห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านน้ำท่อม มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ เฉพาะถนนหลักเส้นเดียวมีร้านน้ำท่อมเปิดให้บริการประมาณ 20 ร้าน มีขนาดแตกต่างกันไป บางร้านตั้งโต๊ะขายใบสดและขวดน้ำท่อม บางร้านมีขนาดใหญ่มาก มีลักษณะเป็นคาเฟ่ ให้นั่งกินดื่มสูบ คุยกันสนุกสนานประสาเพื่อนฝูงวัยรุ่นนักศึกษา ร้านที่เคยเป็นห้องแถวเล็กๆ มีการขยับขยายขนาด มีการตกแต่งใหม่ คนเยอะเป็นหลักร้อย ถ้าไม่เห็นกับตาก็คงจะไม่เชื่อว่าพัฒนาการของธุรกิจน้ำท่อม การเติบโตมีอยู่จริง

ต้นกระท่อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa Korth. อยู่ในวงศ์ Rubiaceae เป็นพืชสมุนไพรที่พบได้ในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย (ประเทศในย่านอาเซียน) ถ้าฝรั่งอเมริกา ยุโรป ก็จะรู้กันว่าประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งปลูกกระท่อมที่มีการใช้ในรูปใบสด และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และใช้ในทางยา เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) และสารสำคัญที่พบคือไมทราไจนีน (Mitragynine) ออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและต้านการอักเสบ หมอพื้นบ้านก็ใช้ในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย เป็นต้น สาร mitragynine และ 7-hydroxymitragynine เป็นสารจำพวก agonists ที่จับกับตัวรับ u-opioid human receptor (ออกฤทธิ์คล้ายๆ กับสารจำพวกฝิ่น)

อย่างไรก็ตามใบกระท่อมถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด พบปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน ดังข่าวที่เป็นอยู่เป็นระยะๆ   ช่วงนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเนื่องมาจากมีราคาถูกและวัยรุ่นนิยมบริโภคเพราะทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่นๆ  เช่นมีการนำน้ำท่อมต้มมาผสมกับน้ำโคล่า  ยากันยุง และยาแก้ไอ ที่เรียกว่าสูตรผสม 4×100 และยังมีสูตรน้ำท่อมอีกหลายรูปแบบ ตามแต่วัยรุ่นในแต่ละพื้นที่จะปรุงแต่งขึ้นมาทดลองจนติดใจแล้วบอกต่อ

จากข่าวล่าสุดที่มีผู้โพสต์ข้อความว่าน้ำท่อมอาจจะทำให้ไตพังได้ “ชื่นใจ ไตลำบาก เตือน!คนที่คุณรัก แจ้งจากสถานพยาบาล ตอนนี้เริ่มมีวัยรุ่นเข้ามาโรงพยาบาลด้วยอาการไต จนได้ฟอกไต พบประวัติดื่ม น้ำกะท่อมโรงพยาบาลจะต้องเจอคนไข้โรคไตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยค่ะ”

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าอาการพิษที่น่าเป็นห่วงก็คือ การทำลายตับและไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการขจัดสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สาร การทำลายสาร และการรักษาสมดุลแร่ธาตุในร่างกาย ร่างกายมนุษย์หากปราศจากตับและไตก็คงจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตากปกติสุข 

มีข้อมูลงานวิจัยจากประเทศมาเลเซียที่ระบุว่าผู้ที่ดื่มน้ำคั้นสดๆ เป็นเวลาหลายปี ทำให้เกิดภาวะโปรตีนอัลบูมินรั่วออกไปกับน้ำปัสสาวะ (proteinuria) ซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะไตวายได้

จากรายงานการศึกษายุโรปของโปรแกรม European Food Risk Assessment Fellowship Programme (EU-FORA) มีข้อสรุปว่าการบริโภคกระท่อมมีโอกาสที่จะเสพติด เกิดอาการถอน เป็นพิษต่อระบบประสาท (neurotoxicity) พิษต่อตับ (liver toxicity) และพิษต่อไต (nephrotoxicity)

ปัจจุบันพบว่าน้ำท่อมที่ขายกันในท้องตลาด ไม่ได้มีส่วนผสมเฉพาะใบกระท่อมสดเท่านั้น แต่ยังมีการผสมสารเคมีอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะยาแก้ไอหลายขนาน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าผลจากใบกระท่อมสดเพียงอย่างเดียว

โดยสรุปแล้วใบกระท่อมเป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้ในตำรับยาพื้นบ้านและการแพทย์แผนไทย แต่ปัจจุบันมีการใช้เป็นเครื่องดื่ม เครื่องดื่มผสม และมีร้านคาเฟ่ให้บริการน้ำท่อมจำนวนมากขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา มีการบริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ซึ่งอาจจะกระทบกับการศึกษาเล่าเรียนและเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้

อ่านเพิ่มเติม

กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข 

กินอาหารเสริมกระท่อม หลังเล่นยิม แล้วเสียชีวิต

Acute Renal Insufficiency Associated With Consumption of Hydrocodone- and Morphine-Adulterated Kratom (Mitragyna Speciosa)

ผลต่อไตที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34747343/

ศูนย์การบำบัด สหรัฐอเมริกา https://americanaddictioncenters.org/kratom/dangers

การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ สหภาพยุโรป

Assessment of the possible health risks associated with the consumption of botanical preparations of Mitragyna speciosa (kratom)

รู้เท่าทัน ยาแก้ไอ กับความเสี่ยงต่อสุขภาพหากนำไปใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล

เภสัชกรด่านหน้าดูแลประชาชน สู้วิกฤต COVID-19

 
 

“เภสัชกร” หนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์คนสำคัญที่จะช่วยสู็ไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะการเป็นด่านแรกในการให้คำปรึกษาประชาชนทั้งการดูแลสุขภาพตัวเองและช่วยคัดกรองผู้มีความเสี่ยงเพื่อลดผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่หน้าที่ของเภสัชกรนั้นยังมีอะไรอีกบ้าง?

วันนี้ (20 มี.ค.2563) อาจารย์เภสัชกร ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อความเล่าหน้าที่การทำงานของเภสัชกรในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ผ่านเฟซบุ๊กเพจ ดร.แกง โดยระบุว่า “COVID-19 ระบาดแบบนี้ เภสัชกรทำอะไรกันอยู่ ?”

ช่วงโรคระบาดนี้ดูเหมือนเวลาที่แถลงข่าวสถานการณ์ประจำวัน ประกาศมาตรการ หรือออกกฏหมายอะไรมา ไม่ค่อยจะได้ยินคำว่า “เภสัชกร” เท่าไหร่นัก แต่เชื่อว่านอกจากจะต้องตอบคำถามว่าทำไมไม่มีหน้ากากอนามัย ทำไมไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งยากจะตอบยิ่งนัก ก็ยังมีงานให้เภสัชกรทำแบบเงียบๆ อยู่หลากหลายบทบาท

โพสต์นี้มุ่งหวังให้นักเรียนมัธยมศึกษาที่กำลังอยากจะเรียนคณะเภสัชศาสตร์ และประชาชนทั่วไปที่ต้องใช้บริการที่ร้านยาได้เห็นว่า เภสัชกร อยู่ในจุดใดของระบบนิเวศการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคที่มันกว้างใหญ่ไพศาล ขึ้นกับว่าจะหยิบส่วนใดมาฉายไฟให้เห็นเด่นชัด สำหรับองค์กรหลักที่ดูแลเภสัชกรก็คือ สภาเภสัชกรรม

ภาพ : ดร.แกง

ภาพ : ดร.แกง

เภสัชกรที่ร้านยา

ด่านแรกที่ดูแลสุขภาพชุมชน แนะนำการดูแลสุขภาพ แนะนำการใช้เจลแอลกอฮอล์ การใช้หน้ากากอนามัย ดูแลการเจ็บป่วยเล็กน้อย หากไม่มีอาการเข้าข่าย COVID-19 ไม่มีความเสี่ยงมาก เจ็บป่วยเล็กน้อยควรพักผ่อน ลดการไปแออัดที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น เภสัชกรที่ร้านยาจะช่วยคัดกรองอาการเพื่อการส่งต่อ

ขณะนี้ไม่ได้มีค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาเหมือนในบางประเทศ รายได้มาจากการขายยาอย่างสมเหตุสมผล เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกท่านเข้าใจและพิจารณาว่าเภสัชกรกับร้านยาจะอยู่คู่ชุมชนได้อย่างไร หากซื้อของต้นทุนมาในราคาแพงแล้วต้องขายขาดทุน หลายคนทำงานทุ่มเท

เภสัชกรโรงพยาบาล

ในภาวะปกติก็ทำงานหนักในการรับใบสั่งยา ตรวจสอบรายการยา ประสานรายการยา จัดยา และส่งมอบยาพร้อมคำแนะนำเพื่อให้ท่านได้ใช้ยาถูก คือ ถูกคน ถูกโรค ถูกวิธี ถูกขนาด ถูกเวลา ถูกใจ และจะได้หายป่วย และในช่วงที่โรค COVID-19 ระบาด แน่นอนว่างานต้องเพิ่มขึ้น เพราะเภสัชกรต้องร่วมกับสหวิชาชีพในการดูแลจัดการคลังเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล ทั้งยาจำเป็น ยาหายาก หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ บางแห่งก็เร่งเครื่องมือผลิตยาสมุนไพร

เภสัชกรด้านการค้นคว้าวิจัยยาใหม่

คนที่ชอบงานเคมี ก็คงกำลังค้นคว้าหาโมเลกุลยาใหม่ หาสารสำคัญในสมุนไพร ตรวจสอบฤทธิ์ว่ามันจะพัฒนาต่อไปได้ไหม บางคนก็คงร่วมกับเพื่อนๆ ต่างวิชาชีพกำลังทำ Test kit ให้ตรวจจับเชื้อโรคได้อย่างแม่นยำ

เภสัชกรที่ชอบเทคโนโลยีชีวภาพ

กำลังร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ออกแบบการวิจัยทางคลินิกอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีข้อมูลในการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในมนุษย์ บางคนอยู่ในส่วนผลิตชีวเภสัชภัณฑ์หรือยาชีววัตถุที่มาจากเลือด (blood-derived biologics) ก็คงต้องทำงานมากขึ้นในช่วงนี้เพื่อตระเตรียมให้สอดคล้องกับอุปสงค์การใช้งานของประเทศ

เภสัชกรฝ่ายผลิต

ทั้งที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมยา องค์การเภสัชกรรม หรือโรงงานเภสัชกรรมทหาร และฝ่ายผลิตของโรงพยาบาล ก็คงกำลังเร่งสายพานการผลิตยาที่มีคุณภาพ และได้ปริมาณตามความต้องการใช้ ต้องควบคุมคุณภาพในทุกกระบวนการผลิตเพื่อให้มั่นใจว่ายาทุกเม็ด ยาทุกขวดที่ออกมาสู่ท้องตลาด เป็นยาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ประชาชนมั่นใจได้

เภสัชกรที่อยู่ฝ่ายขึ้นทะเบียน

ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค เช่น อย. และสำนักงานสาธาณสุขจังหวัด ก็คงทำงานตรวจตราสินค้า วางเกณฑ์การแสดงข้อมูลในฉลาก อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนเพื่อให้มีประชาชนได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัย ไม่อย่างนั้นเราก็จะเกิดคำถามไม่รู้จบว่า เจลแอลกออล์ที่วางขายทำไมไม่มีฉลาก ทำไมไม่มีกลิ่น ทำไมใช้แล้วเหนียว ทำไมมันไม่ละลายหมึกพิมพ์เหมือนที่โซเชียลแนะนำ ทำไม ทำไม ไปเรื่อยๆ นั่นก็เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องในการบริหารจัดการวัตถุดิบ การขึ้นทะเบียนตั้งแต่ต้นทาง มาแก้ปัญหาปลายทางก็คงจะสายเกินแก้

ทั้งนี้ คงมีเภสัชกรอีกหลายคนที่ทำงานเงียบๆ เป็นแนวรบแถวหน้าในยามที่ประชาชนแตกตื่นกับการมาเยี่ยมอย่างกระทันหันของโควิค-19 ถึงแม้ว่าเภสัชกรในชุมชนและสายงานอื่นๆ จะไม่ใช่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามประกาศ ผมคิดว่าทุกท่านสามารถแสดงบทบาทนั่นได้ไม่ยากเพราะท่านต้องเจอกับประชาชนที่ร้านยา สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ แนะนำวิธีการดูแลตนเอง ช่วยคัดกรองเบื้องต้นพร้อมให้คำแนะนำส่งต่อ สร้างคอนเทนต์โซเชียลที่ตอบโจทย์คนในชุมชน และให้บริการด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีครับ

ที่มา 

3-family

“ชั่วโมงสร้างสุข” Family News Today เป็นสกู๊ปข่าว แนะนำเรื่องการเตรียมตัว การดูแลสุขภาพและการใช้ยาในช่วงการเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมพระบรมศพ ติดตามรายละเอียด ที่นี่

อาหารบำรุงสมอง?

อาจารย์ เภสัชกร ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน

ผลิตโดย Learning Innovation Center Chulalongkorn University

1538400364506.jpg

15 คำถามสำคัญก่อนกินยา

banner

เมื่อเป็นไข้ไม่สบาย เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หลายคนก็มักจะปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยา เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตนเอง หากเป็นอาการที่น่ากังวลเภสัชกรก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสม ปกติแล้วอาการที่ร่างกายแสดงออกมา ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลในร่างกาย ถ้าไม่หนักหนาสาหัสก็มักจะหายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งยา แต่หากจำเป็นต้องกินยาจริงๆ คุณผู้อ่านต้องตอบคำถาม 15 ข้อต่อไปนี้ให้ได้ก่อนครับ ยิ่งปัจจุบันร้านสะดวกซื้อบางแห่ง มีบริการยาสามัญประจำบ้าน ยาสมุนไพร และยาแผนโบราณ เรียกได้ว่า ผู้บริโภคหาซื้อยาได้ง่ายพอสมควร ดังนั้น มาดูกันเลยครับว่า 15 คำถามสำคัญก่อนกินยานั้นมีอะไรบ้าง

1. ยานี้ชื่ออะไร?
ชื่อยานี้สำคัญมากครับ หลายครั้งที่ผู้ป่วยจำลักษณะเม็ดยาและสี แต่ไม่ทราบชื่อยา โปรดจดจำชื่อสามัญทางยา กับชื่อทางการค้า เช่น Tylenol เป็นชื่อทางการค้า ส่วนชื่อสามัญทางยาคือ paracetamol

2. ฉันจำเป็นต้องกินยานี้ด้วยหรือ?
ข้อนี้ต้องถามตัวเองเสมอว่า มีความจำเป็นไหม เพราะยาก็คือสารเคมีที่อาจจะทำให้เกิดพิษได้

3. ยานี้มันจะช่วยแก้อาการได้อย่างไร?
ผู้บริโภคควรเข้าใจการทำงานของยาเบื้องต้นว่ามันช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งควรศึกษาข้อมูลจากฉลากยา หรือสอบถามเภสัชกรหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม

4. ฉันเคยเกิดอาการแพ้ยาตัวนี้หรือสารเคมีอื่นที่เป็นองค์ประกอบในยาหรือไม่?
ผู้บริโภคต้องแจ้งผู้ประกอบวิชาชีพทุกครั้งว่าแพ้ยาอะไรบ้าง นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะแพ้ยาตัวอื่นในกลุ่มยาเดียวกัน ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกัน ซึ่งผู้ใช้ยาก็ต้องระมัดระวังการใช้ยา ทั้งยาตัวที่แพ้โดยตรง และยาตัวอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดการแพ้ยาเหล่านี้ด้วยเสมอ นอกจากนี้ บางคนอาจจะแพ้สารเคมีบางอย่างที่เป็นองค์ประกอบในยา เพราะในเม็ดยา หรือยารูปแบบอื่นๆ ไม่ได้มีเฉพาะตัวยาสำคัญเท่านั้น ยังมีสารเคมีอื่นๆ ที่ช่วยทำให้ยาเป็นรูปเป็นร่าง มีความคงตัว และมีสีและกลิ่นที่น่ากิน

5. ฉันต้องกินปริมาณเท่าไหร่?
ยาชนิดเดียวกันอาจมีหลายขนาด ผู้บริโภคต้องทราบปริมาณที่ต้องใช้ หากเป็นยาสามัญประจำบ้านก็ต้องอ่านที่ฉลากยา และกินในปริมาณที่แนะนำ

6. ฉันต้องกินถี่แค่ไหน วันละกี่ครั้ง?
การกินยาเป็นการนำส่งโมเลกุลยาผ่านทางเดินอาหาร เพื่อเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้น ปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายจึงสำคัญ ยาบางประเภทอาจระบุชัดเจนว่าให้กินทุกๆ กี่ชั่วโมง ทั้งนี้ เพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงเพียงพอที่จะทำให้เกิดผลการรักษา

7. ฉันต้องกินตอนไหนของวัน?
ยาบางตัวจำเป็นต้องกินตอนเช้า ยาบางตัวก็ต้องกินตอนค่ำ ยางบางตัวก็ไม่ได้มีข้อกำหนด กินได้ตลอดวัน ดังนั้น ศึกษาข้อมูลให้ดีครับ

8. ฉันควรกินยานี้ตอนท้องว่างหรือกินพร้อมอาหาร?
ยาบางตัวอาจจะดูดซึมได้ดีตอนท้องว่าง อาหารและกรดในทางเดินอาหารอาจทำลาย จึงแนะนำให้กินก่อนมื้ออาหารประมาณ 30 นาที แต่ยาบางตัวควรกินพร้อมอาหาร เพื่อส่งเสริมการดูดซึม หรือลดอาการข้างเคียงบางอย่าง เช่น ยาระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

9. ฉันควรเก็บยานี้ไว้ที่ไหนดี?
โดยปกติควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บในที่ร้อนจัด หรือเอาไว้ในพาหนะ ซึ่งจอดกลางแจ้ง ยาบางกลุ่มอาจจะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ทั้งนี้ ควรปรึกษาเภสัชกรสำหรับยากลุ่มพิเศษนี้

10. ฉันควรทำอย่างไรถ้าลืมกินยา?
ยาบางประเภท เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ใช้ เมื่อมีอาการ ถ้าลืมกินยาก็สามารถกินได้เลยเมื่อนึกขึ้นได้ และหยุดกินยาเมื่ออาการหาย ถ้าลืมกินยาก่อนอาหาร ก็รอให้กระเพาะอาหารว่างก่อน(ประมาณ 2 ชั่วโมง หลังอาหาร) แล้วค่อยกินยา ทั้งนี้ ยาบางประเภท (เช่น ยาคุมกำเนิด) ควรปรึกษาเภสัชกรถามเป็นกรณีไปว่า หากลืมกินยาจะต้องทำอย่างไร

11. ฉันจะต้องกินยานี้ไปอีกนานแค่ไหน?
ยาที่ระบุว่าให้กินเมื่อมีอาการ สามารถกินยาซ้ำได้ ตามความถี่ที่ระบุไว้ เช่น กินยาทุกๆ 4-6 ชั่วโมง เมื่ออาการหายแล้วก็สามารถหยุดยาได้ แต่ยาบางประเภท เช่น ยาปฏิชีวนะรักษาอาการติดเชื้อ จำเป็นต้องกินต่อเนื่องเป็นสัปดาห์

12. ฉันจะทราบได้อย่างไรว่ายานี้มันช่วยฉันได้?
ถ้าเป็นยาแก้อาการง่ายๆ กินเมื่อมีอาการ ถ้าอาการมันหายก็คงบ่งบอกว่า ยานี้มันช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเป็นยารักษาโรคเรื้อรัง คุณจำเป็นต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ และมาพบแพทย์เพื่อดูผลของยาว่า มันช่วยแก้อาการได้ไหม ผลการตรวจค่าบ่งชี้บางอย่างซึ่งอาจจะมาจากการตรวจเลือด จะเป็นตัวบอกว่า ยาตัวนี้ ในขนาดนี้ ได้ผล หรือต้องปรับขนาดให้สูงขึ้น หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่

13. ผลข้างเคียงของยานี้ที่อาจจะเกิดขึ้นกับฉันมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงของยานี้อาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้ยาได้ทุกคน เพราะเป็นอาการที่เกิดจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาตามปกติ เช่น อาจจะง่วงซึม ปากแห้ง เป็นต้น หากเกิดผลข้างเคียงของยาที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถทนได้ ปรับตัวได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอาการรุนแรง และรบกวนการใช้ชีวิตปกติ ก็ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแจ้งแพทย์ที่ทำการรักษา เพื่อค้นหาแนวทางการใช้ยาใหม่
14. แล้วยานี้มันจะมีผลต่อการทำงาน การขับรถ หรือกิจกรรมอื่นใดไหม?
ยาแก้แพ้บางกลุ่มทำให้ง่วงซึม จึงควรระวังการใช้ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือขับรถ และระมัดระวังการใช้ในเด็กเป็นพิเศษ

15. ยานี้จะเกิดอันตรกิริยา (ยาตีกัน) กับอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาอื่นๆ ไหม
อาหารบางอย่าง เช่น นม อาจจะรบกวนการดูดซึมของยาบางชนิดได้ ยาบางประเภทก็ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาอื่นๆ ที่ต้องกินร่วมกันในห้วงเวลาเดียวกัน อาจจะเกิดภาวะยาตีกัน ซึ่งอาจจะเป็นการเสริมฤทธิ์กันหรือเกิดการต้านฤทธิ์กันก็ได้

ที่มา บริษัท นิวส์ คอนเน็ก จำกัด

http://www.newsconnect.co.th/health/healthdetail.php?idnews=3850

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับยา ที่นี่

ยาสำหรับโรคระบบประสาท ที่นี่

ยาชีววัตถุ ที่นี่

ยาเซลล์ต้นกำเนิด ที่นี่ 

Advanced Therapy Medicinal Products (ATMPs)  http://cellrx.wordpress.com/atmps/

รับประทานอาหารอย่างปลอดภัยห่างไกลโควิด

ใส่ความเห็น